Fukuoka | Kushida Shrine ศาลเจ้าคูชิดะ
ญี่ปุ่น ดินแดนอาทิตย์อุทัย เป็นที่รู้จักในฐานะประเทศที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกันมาอย่างยาวนานกับบ้านเรา ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว ด้วยมนต์สเน่ห์แห่งอารยธรรมตะวันออก วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ และผู้คนที่เป็นมิตร ทำให้ในปัจจุบัน ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่ได้รับความนิยมอย่างสูงของนักท่องเทียวชาวไทย … ช่วงปลายเดือนพ.ย.-ต้นเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นกับครอบครัว จุดมุ่งหมายหลักของทริปคือการไปชมใบไม้เปลี่ยนสี (แต่เนื่องจากปีนี้หนาวค่อนข้างเร็ว ทำให้ใบไม้ร่วงโรยไปมากครับ T_T) ทริปนี้เริ่มต้นการเดินทางที่เมืองฮากาตะ จังหวัดฟุกุโอกะ สิ้นสุดการเดินทางที่โอซาก้า สำหรับตอนแรก ผมขอพาทุกคนไปรู้จักกับศาลเจ้าที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของฮากาตะ นั่นคือ ศาลเจ้าคูชิดะ (Kushida Shrine)
การเดินทาง
ตัวศาลเจ้านั้นอยู่ใจกลางเมืองเลยทีเดียว หากใครพักอยู่แถวย่านสถานี Hakata สามารถนั่งรถไฟฟ้าใต้ดินเพียง 1 สถานี มาลงที่สถานี Gion จากนั้นเดินมาตามทาง ประมาณ 500 เมตร แล้วเลี้ยวขวา ก็จะเห็นทางเข้า (มาไม่ยากครับ เพราะจากสถานีมีป้ายบอกทางตลอด)
ค่าเข้าชม
ฟรี
เวลาเปิดปิด
04:00 – 22:00
จากสถานี Gion ทางออกที่ 3 เดินตรงมาเรื่อยๆ จะเห็นสามแยกทางไปศาลเจ้า
ด้านหน้าศาลเจ้าจะเห็นเสาโทริอิ เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงเขตแดนอันศักดิ์สทธิ์ สามารถพบเห็นได้ในศาลเจ้าทั่วญี่ปุ่น
ประวัติความเป็นมา
ศาลเจ้าคูชิดะ (Kushida Shrine) เป็นหนึ่งในศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองฟุกุโอกะ มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งคือ “โอ คุชิดะ ซัง – O-kushida-san” ตามชื่อของเทพเจ้าในศาสนาชินโตซึ่งปกปักรักษา คุ้มครองชาวเมืองฮากาตะมาอย่างยาวนาน ผู้คนที่นี่จึงนิยมมากราบไหว้ ขอพรให้มีอายุยืนยาว สุขภาพแข็งแรงและประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน
สถานีที่แห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นในสมัยเฮอัน (ช่วงปีค.ศ. 757 ) โดยจักรพรรดิ โคเค็น (Koken) เพื่อให้เป็นศาลเจ้าของเทพร่วมกับศาลเจ้าคูชิดะที่จังหวัดอิเสะ (จังหวัดมิเอะในปัจจุบัน) ก่อนที่จะถูกไฟไหม้ และสร้างขึ้นมาใหม่ในปีค.ศ. 1587
ธรรมเนียมเวลามาศาลเจ้า
การเข้าศาลเจ้าเพื่อขอขมาและแสดงความขอบคุณต่อธรรมชาติที่หล่อเลี้ยง ชีวิต รวมไปถึงสักการะขอพรเพื่อให้ลูกหลานเติบโตขึ้นมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงนั้น ถือเป็นหนึ่งธรรมเนียมปฏิบัติ ซึ่งแทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตคนญี่ปุ่นมายาวนานนับตั้งแต่ยุคเก่าก่อน โดยข้อปฏิบัติเวลาเข้าศาลเจ้าเพื่อสักการะเทพเจ้าขอพรมีด้วยกันดังนี้
1) ควรหยุดค้อมศีรษะทำความเคารพหนึ่งครั้ง เมื่อเดินผ่านซุ้มประตูหรือโทริอิ เพื่อแสดงความเคารพ
2) ไม่เดินกึ่งกลางทางเดิน เพราะเชื่อว่าบริเวณกึ่งกลางเป็นทางผ่านของเทพเจ้า ควรเดินหลบไปริมทางด้านซ้ายหรือขวา
3) ล้างมือบ้วนปากด้วยน้ำจากบ่อน้ำหน้าศาลเจ้า ทั้งนี้กล่าวกันว่าเพื่อเป็นการชำระล้างดวงวิญญาณ บาป หรือสิ่งอัปมงคลที่ติดตัวเรามา โดยเวลาล้างจะต้องทำตามลำดับ คือ… – ใช้มือขวาหยิบกระบวยขึ้นมา ตักน้ำให้เต็มและเริ่มล้างจากมือซ้าย (อย่าเพิ่งเทน้ำจนหมด) – เปลี่ยนไปใช้มือซ้ายจับกระบวย ล้างมือขวา – ใช้มือขวาจับกระบวย ตักน้ำขึ้นมาเทครึ่งหนึ่งใส่มือเพิ่มบ้วนปาก – ตั้งกระบอกขึ้น ปล่อยให้น้ำที่เหลืออยู่ในกระบอกไหลลงมาตามด้ามจับ
4) ในการสักการะขอพร โดยมากนิยมใช้เหรียญห้าเยนโยนใส่กล่องรับบริจาคที่ตั้งอยู่ด้านหน้าที่ สถิตย์องค์เทพ เพราะคำว่าเหรียญห้าเยน (五円) ในภาษาญี่ปุ่น พ้องเสียงกับคำว่า “โกะเอ็น” ที่ย่อมาจาก “โกะเอ็น กะ อาริมัส โยนิ” (ご縁がありますように) ซึ่งแปลง่ายๆได้ว่า “ขอให้โชคดีอยู่กับเรา”
5) สูตรจำง่ายๆเวลาสักการะคือ “ค้อมสอง ตบสอง ค้อมหนึ้ง” (Nirei Nihakushu Ichirei / 二礼二拍手一礼) นั่นคือหลังโยนเหรียญลงกล่องรับบริจาคแล้ว ให้ค้อมคำนับสองครั้ง ตามด้วยการปรบมือสองครั้ง ตั้งจิตอธิษฐาน แล้วจบด้วยการค้อมคำนับอีกหนึ่งครั้ง ศาลเจ้าแทบทุกแห่งมีสูตรสำเร็จในการสักการะเหมือนกันหมด ยกเว้นที่ศาลเจ้าใหญ่ๆบางแห่งอย่างเช่น ศาลเจ้าอิซุโมะ (Izumo taisha / 出雲大社) ซึ่งจะต้อง “ค้อมสี่ ตบสี่ ค้อมหนึ่ง”
6) ไม่ควรบนบาน แต่ควรให้คำมั่นสัญญา (เช่น จะพยายามทำงาน จะตั้งใจเรียน เพื่อ…) แล้วเมื่อนั้นเทพเจ้าจะเป็นกำลังให้เอง
7) ใบเซียมซีที่เนื้อหาไม่ดีหรือไม่เป็นมงคล ให้ฝากไว้กับศาลเจ้าไม่ต้องนำกลับบ้าน โดยทางศาลเจ้าจะจัดราวหรือกิ่งไม้ไว้ให้ผูกโดยเฉพาะ อีกข้อควรรู้คือ ผู้นับถือศาสนาชินโตจะไม่เดินลอดซุ้มประตูศาลเจ้าหรือโทริอิ หากปีนั้นๆมีญาติพี่น้องในครอบครัวเสียชีวิต แต่จะใช้วิธีเดินเลี่ยงผ่านไปทางช่องว่างข้างซุ้มประตูแทน
Credit: ขอบคุณข้อมูลจากเว็บ J-Plan Holiday
ตามธรรมเนียมญี่ปุ่นจะต้องชำระล้างสิ่งสกปรกก่อนเข้าศาลเจ้า
ต้นแปะก๊วย (Gingko) ขนาดยักษ์ด้านข้างศาลเจ้า ที่มีอายุกว่า 1,000 ปี !!!
ป้ายข้อมูลด้านหน้า มีภาษาอังกฤษแต่ส่วนใหญ่เป็นภาษาญี่ปุ่นหมดครับ
ทางเข้าศาลเจ้ามีรูปปั้นวัวเทพเจ้านอนอยู่ในสภาพที่มันวับโดยชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อกันว่าหากได้ลูบไล้บริเวณหัวและเขาของวัวจะทำให้หายจากอาการเจ็บป่วย จะมีแต่โชคดีเข้ามาและประสบความสำเร็จในเรื่องการเรียน
รูปปั้นเทพเจ้าม้า ด้านหน้าทางเข้าศาลเจ้าหลัก
โคมญี่ปุ่นประดับศาลเจ้า
เข้ามาด้านในศาลเจ้าหลักแล้ว
ด้านในศาลเจ้าหลัก มีหน้ากากของ เทงกุ (Tengu) เทพปีศาจในตำนานของญี่ปุ่น
Hakata Yamakasa Gion Matsuri
ในฤดูร้อน ช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี ศาลเจ้าคูชิดะเป็นศูนย์กลางของงาน ฮากาตะ ยามากาสะ กิออน (Hakata Yamakasa Gion) ซึ่งเป็นงานเทศกาล (Matsuri) ที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงของเกาะคิวชู ในวันสุดท้ายของเทศกาลมีการแข่งแห่เสลี่ยงยักษ์ ที่เรียกว่า Oiyama ระหว่างตัวแทน 7 ทีม จาก 7 เขตของ Hakata ได้แก่ Daikoku, Higashi, Nakasu, Nishi, Chiyo, Ebisu, and Doi โดยกลุ่มไหนสามารถเคลื่อนขบวนแห่ถึงเส้นชัยได้ก่อน จะเป็นผู้ชนะ โดยการแข่งขันเริ่มต้นที่ศาลเจ้าคูชิดะ ตั้งแต่เช้ามืด (ตีห้า) เลยทีเดียว
สำหรับเสลี่ยงนั้นมีสองแบบคือ Kazariyama และ Kakiyama เสลี่ยงทั้งสองแบบจะประดับตกแต่งด้วยสไตล์ที่แตกต่างกันไปของแต่ละเขต โดยจะทำขึ้นมาใหม่และธีมจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆทุกปี แบบแรกในอดีตเคยใช้ในการแข่งขัน แต่ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว แค่วางโชว์ประดับไว้ตามจุดต่างๆของเมือง ส่วนแบบหลังจะใช้ในการแข่งขัน หากใครแวะมาไม่ทันช่วงเทศกาล ก็สามารถมาชมได้ที่ศาลเจ้าครับ
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทศกาลนี้
http://fukuoka-now.com/2014/06/yamakasa/
http://fukuoka-now.com/2014/07/yamakasa-kazariyama-2014-report/
ตัวอย่างเสลี่ยง ใหญ่และสูงมากๆ (สูงถึง 10 เมตร และหนักราว 1 ตัน)
ถังสาเก หนึ่งในของเซ่นไหว้ในพิธีบูชาเทพเจ้า เราสามารถพบเห็นถังลวดลายสีสันสวยงามนี้ตามศาลเจ้าทั่วญี่ปุ่น
โดยประวัติความเป็นมาคร่าวๆ เขาว่า สาเกนั้นถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์(เหมือนกับน้ำมนต์บ้านเรา) สามารถป้องกันผีร้ายได้ เพราะสาเกนั้นมีเทพเจ้าคุ้มครองอยู่ สาเกที่อยู่ที่ศาลเจ้า คือสาเกที่ประชาชนบริจาคให้กับศาลเจ้านั้นๆ ส่วนสาเกที่ว่านี่เอาไปทำอะไร? แต่ละศาลเจ้าจะมีงานเทศกาลมัทสึริ เป็นแบบพวกขบวนแห่ศาลเจ้าญี่ปุ่นจำลอง ส่วนมากจะทำในหน้าร้อน เพราะเป็นช่วงที่เชื่อว่าวิญญาณบรรพบุรุษจะกลับมา
Ebisu Shrine ศาลเจ้าขนาดเล็ก ตั้งอยู่ข้างๆศาลเจ้าหลัก
เดินเลยมาหน่อยจะเห็นสวนเล็กๆ จากตรงนี้ติดกันจะเป็นทางออก (South Gate) ทางลัดไปสู่ถนนชอปปิ้ง Nakasu Kawabata
โซนขายเครื่องรางของขลัง
ใบไม้เริ่มร่วงไปมากแล้ว แต่ยังพอเห็นอยู่ครับ
หลายๆคนที่มาเที่ยวญี่ปุ่น และแวะไปไหว้พระที่วัดพุทธห
หลังจากที่มีต้นไม้เหี่ยวเฉ
Credit : ขอบคุณเรื่องราวของ Omikuji (Fortune Paper) จาก https://www.facebook.com/FreedomAlbum
ตอนนั้นเจอเจ้าหน้าที่ของศาลเจ้า (น่ารักมาก) กำลังผูกใบเซียมซีอยู่พอดี เลยขอเค้าถ่ายรูปสักสองสามแชะ 😀
ที่นี่ค่อนข้างเงียบสงบมากๆ ขนาดเป็นวันเสาร์ คนกลับไม่พลุกพล่านเหมือนที่อื่นๆ หากใครที่มีโอกาสแวะมาเที่ยวที่ Fukuoka หรืออยู่เมือง Hakata สักวันสองวัน แนะนำให้ลองมาเที่ยวที่นี่ดูครับ