เรียนต่อก่อนทำงาน vs ทำงานก่อนเรียนต่อ แบบไหนดีกว่ากัน ??
คนสมัยนี้มีแนวโน้ม
ไปเรียนต่อกันมากขึ้น
เช่นเดียวกับ พ่อแม่ ผู้ปกครอง
ที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา
แก่บุตรหลานอย่างยิ่งยวด
เรียกได้ว่าเป็นเทรนด์ของคนสมัยนี้
ที่ต้อง”เรียนจบสูงๆไว้ก่อน”
(อย่างน้อยๆก็ต้องป.ตรีขึ้นไป)
พวกเค้าเชื่อว่าการศึกษาที่ดีนั้น
จะนำมาซึ่งงานที่ดี และงานที่ดีนั้น
จะสามารถสร้างฐานะ ความมั่นคง
และชีวิตที่ดีได้
ผมเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ทุกประการ
หลายคนอาจมีคำถามในใจว่า
“ทำงานก่อนค่อยเรียนต่อ
หรือเรียนต่อก่อนแล้วค่อยทำงานดีล่ะ?”
ทั้งสองทางล้วนมีข้อดีที่ต่างกัน
(ผมนับถือคนที่เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย
นี่เก่งมากเลยนะ ยอดมนุษย์ตัวจริง!)
บทความนี้อิงจากประสบการณ์จริง
ทั้งจากตัวผมเอง ครอบครัว
เพื่อนๆ และคนรอบข้าง
ผมเชื่อว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์
สำหรับเด็กใกล้จบ เด็กจบใหม่
คนที่มาถึงทางแยกของชีวิต
หรือคนที่ยังสับสนว่า
“ชีวิตเราจะเอาไงต่อดีนะ?”
1. เรียนต่อให้จบก่อนเริ่มทำงาน
ข้อดี คือ
– การเรียนต่อเปิดโอกาสให้เรา
ได้เพิ่มพูนความรู้ในสิ่งที่เราชอบ
เหมาะสำหรับคนที่รู้ตัวเองว่าชอบอะไร
อยากทำงานแนวไหนในอนาคต
– ความรู้จากตอนป.ตรียังสดใหม่
ไฟในการเรียนรู้ (ในห้องเรียน)
ยังคงอยู่ ไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก
– ได้อัพเกรดโปรไฟล์ พัฒนาทักษะ
ในด้านต่างๆเพิ่มเติม เช่น
การคิดวิเคราะห์ในระดับที่สูงขึ้น
การทำงานร่วมกับผู้อื่น การสื่อสาร
การใช้ภาษาอังกฤษ ฯลฯ
– สำหรับคนที่ต้องการ
ไปเรียนต่อต่างประเทศ
ระหว่างเรียนป.ตรีในมหาลัย
คือช่วงเวลาเตรียมตัวที่ดีที่สุด
เพราะมีเวลาเหลือเฟือ
ในการโฟกัสเรื่องการเรียน
นั่นคือสามารถทุ่มเทกับการสอบต่างๆ
ได้มากกว่าตอนไปทำงาน
(TOEFL, IELTS, GMAT, GRE
สอบพวกนี้ถ้าไปเตรียมตัวตอนทำงาน
จะเหนื่อยมากๆครับ)
– พอเรียนจบและเริ่มทำงานแล้ว
ชีวิตจะค่อนข้างคงที่ Settle พอสมควร
ไม่ต้องกังวลเรื่องหาทางไปเรียนต่อ
(เว้นแต่ใครต้องการได้ปริญญาอีกใบ)
เพื่อนๆผมหลายคน
รวมถึงตัวผมเอง
เลือกเส้นทางนี้
ด้วยเหตุผลตามที่กล่าวมา
แต่ข้อเสียเปรียบหรือควรระวัง
ของการเรียนต่อโททันที
เท่าที่เห็นมีอยู่สองสามข้อคือ
– เริ่มงานช้า เริ่มสร้างฐานะช้า
ประสบการณ์ทำงานจะน้อยกว่า
คนจบตรีแล้วเริ่มทำงานเลย
แต่ผมเห็นเพื่อนๆหลายคน
สมัครขอทุนระหว่างเรียนโท
ก็สามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้
บวกกับเวลาว่างระหว่างเรียน
สามารถหารายได้เสริมได้อีกด้วย
– ถ้าเลือกเรียนในสาขาที่ไม่ชอบ
เรียนแล้วไม่มีความสุข จะเสียเวลามาก
ฉะนั้นก่อนเลือกเรียน ต้องคิดดีๆ
– บางคนเรียนจบมาแล้ว
ได้งานไม่ตรงสายกับที่เรียน
อดใช้ความรู้ที่เรียนมา
น่าเสียดายเหมือนกันนะ
อย่างตัวผมเอง โชคดีมาก
ที่ได้มีโอกาสไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ
นอกเหนือจากความรู้ที่ได้ในห้องเรียน
สิ่งที่ได้เพิ่มเติมขึ้นมา คือ ประสบการณ์
แนวคิด ทัศนคติ ที่เปลี่ยนไป
จากการได้ออกเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ
ได้พบเจอผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ
นับว่าเป็นสิ่งที่สามารถนำมาต่อยอด
กับการใช้ชีวิตและการทำงานในอนาคตได้
2. ทำงานก่อนแล้วค่อยเรียนต่อ
ข้อได้เปรียบที่เห็นได้ชัด
ของการเริ่มทำงานก่อน คือ
– เริ่มงานเร็ว มีเงินเร็ว สร้างฐานะได้เร็ว
ขณะที่เพื่อนหลายคนกำลังเรียนอยู่
เรากำลังสะสมประสบการณ์ทำงาน
ซึ่งในท้ายที่สุดนำมาซึ่งเงินเดือน
ภาระหน้าที่และตำแหน่งที่สูงขึ้น
– ปริญญาโทบางคอร์ส เช่น
บริหารธุรกิจ MBA ต่างๆ
ต้องการประสบการณ์ทำงาน
หนึ่งปี สองปี สามปี ก็ว่ากันไป
ซึ่งถือเป็นแต้มต่อที่ดี
สำหรับคนที่ทำงานอยู่
– การได้ทำงานก่อน ทำให้เรารู้ว่า
งานที่เราทำเนี่ย ชอบไหม
อยากเปลี่ยนสายงานไหม
อยากเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม
การทำงานสามารถช่วยในการตัดสินใจ
เลือกเรียนต่อ/เปลี่ยนสายได้
– บางบริษัท บางหน่วยงาน
มีทุนเรียนต่อให้ฟรี
โดยเฉพาะองค์กรใหญ่ๆ
แต่ต้องแลกกับการแข่งขันที่สูง
กับคนจำนวนมาก
สำหรับข้อเสียเปรียบก็ตรงข้ามกับ
การเรียนต่อให้จบก่อนทำงานครับ
หลักๆคือ ต้องแบ่งเวลาทำงาน
กับการเตรียมตัวสอบให้ดี
และสำหรับมนุษย์เงินเดือนทั่วไป
เวลาทำงานผ่านไปหลายๆปี
เชื่อผมเถอะ ความรู้สึกเรื่อยๆเฉื่อยๆ
จะเริ่มเข้าครอบงำโดยไม่รู้ตัว
(คือ เราจะรู้สึกขี้เกียจที่จะทำอะไร
เพิ่มเติมนอกเหนือจากงานประจำ
ประมาณว่า เหนื่อย แค่นี้ก็พอ
ไม่เห็นต้องดิ้นรนอะไรมากมาย)
ฉะนั้น ถ้าอยากเก่งขึ้น
เราควรมีไฟในการเรียนรู้อยู่เสมอ
หมั่นพัฒนาตนเอง หาความรู้เพิ่มเติม
ฝึกฝนทักษะที่จำเป็น
ควบคู่ไปกับงานประจำ
ทั้งหลายเหล่านี้
สามารถเพิ่มมูลค่าในตัวเราเองได้
ไม่แพ้การเรียนต่อเลยครับ
เดี๋ยวนี้วิชาความรู้หาได้ง่ายสุดๆ
สื่อการเรียนรู้ก็มีมากกว่าสมัยก่อน
มากพอที่ชีวิตนี้จะเรียนได้หมด
แถมยังหาได้ฟรีอีกด้วย
เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส
ขึ้นอยู่ว่าเราตั้งใจศึกษาหาความรู้
ด้วยตนเองอย่างจริงจังหรือไม่
จะเห็นว่า
ไม่ว่าจะเรียนต่อก่อนทำงาน
หรือไปทำงานก่อนแล้วค่อยเรียนต่อ
ก็ล้วนมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบที่ต่างกัน
ขึ้นอยู่กับว่าแบบไหนเหมาะกับเราที่สุด
ทุกคนมีทางเดินของตัวเองแตกต่างกันไป
ขึ้นอยู่กับความพร้อมในด้านทุนทรัพย์
ความรู้ ประสบการณ์ ทักษะความสามารถ
ความชอบ ความสนใจในด้านต่างๆ
สุดท้าย ไม่ว่าจะจบสูงแค่ไหน
จะเรียนเด่น ทำงานเลิศมากเพียงใด
จงอย่าลืมการเป็นคนดีของสังคม
รู้จักแบ่งปันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนร่วมโลก
มีจรรยาบรรณ และเป็นมืออาชีพในสิ่งที่ทำ
อันนี้สำคัญที่สุดครับ ^^
Credit: Storylog